ค้นพบฟอสซิลปลานักล่าดึกดำบรรพ์ ที่กาฬสินธุ์



ดร.อุทุมพร ดีศรี นักวิจัยสาขาบรรพชีวินวิทยา (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ศึกษาวิจัยฟอสซิลปลาดึกดำบรรพ์ และผู้ค้นพบปลาดึกดำบรรพ์ชนิดใหม่ของโลก บริเวณแหล่งภูน้อย ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี (Isanichthys lertboosi) เป็นปลากระดูกแข็งน้ำจืดที่พบในยุคจูแรสสิกตอนปลาย หรือเมื่อประมาณ 150 ล้านปีก่อน มีความยาวตั้งแต่ 30-90 เซนติเมตร จากการศึกษาลักษณะฟันที่เรียงกันคล้ายแท่งดินสอ และขากรรไกรที่แข็งแรงบ่งบอกได้ว่าปลาชนิดนี้มีขากรรไกรอันทรงพลังและฟันอันแหลมคม ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสัตว์นักล่า

“อีสานอิกธิส เลิศบุศย์ศี เป็นฟอสซิลปลากระดูกแข็งชนิดที่ 2 ในสกุล อีสานอิกธิส ที่มีการค้นพบในประเทศไทย หลังจากการค้นพบ อีสานอิกธิส พาลาสทิส (Isanichthys palustris) ในปีพ.ศ. 2549 ชื่อสกุล อีสานอิกธิส หมายถึง ปลากระดูกแข็งที่พบในภาคอีสาน (Isan = ภาคอีสาน และ Ichthys = ปลากระดูกแข็ง) ส่วนชื่อชนิด เลิศบุศย์ศี ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติให้แก่นายอำเภอเลิศบุศย์ กองทอง ผู้เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยผลักดันให้แหล่งขุดค้นภูน้อยดำเนินการมาได้ ทั้งนี้ ลักษณะสำคัญของปลากระดูกแข็งโบราณที่สังเกตได้ง่ายคือ ลักษณะเกล็ดรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งในปัจจุบันสามารถพบได้ในกลุ่มปลาการ์ (Gar) เท่านั้น”